ประเด็นร้อน

เอกซเรย์กฎหมายปฏิรูปตำรวจโค้งสุดท้าย : ตอบโจทย์ประชาชน

โดย ACT โพสเมื่อ May 14,2018

- - ขอบคุณข้อมูลจาก ไทยรัฐ - -

 

“ประชาชนต้องการเห็นการปฏิรูปตำรวจเป็นรูปธรรมในอันดับต้นๆ”


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตอกย้ำให้สังคมมั่นใจว่า ในยุครัฐบาล คสช.จะยกเครื่องวงการสีกากีให้เป็นรูปธรรม


เจตนานี้นายกฯ แสดงผ่านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ไปถึงคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)เป็นประธาน


“น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงได้ อย่างน้อยน่าจะสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนในระดับหนึ่ง” นายคำนูณ สิทธิสมาน กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย ในฐานะโฆษกคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ แสดงมุมมองผ่านการให้สัมภาษณ์ ทีมข่าวการเมือง


โดยชี้ให้เห็นภาพรวมที่รัฐบาลตั้งคณะกรรมการเร่งรัดการปฏิรูปด้านต่างๆ มีนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งจะผลักดันออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมภายใน 8 เดือน


ขณะที่การปฏิรูปตำรวจ คณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ได้รับมอบอำนาจให้ทำหน้าที่ได้อย่างกว้างขวาง ไม่ใช่เฉพาะพิจารณาร่างกฎหมาย


โครงสร้างกรรมการชุดนี้ผสมระหว่างกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษครึ่งหนึ่ง กับบุคคลภายนอกครึ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นตัวแทนคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ หรือผู้ที่มีประสบการณ์ มีนายมีชัย ประธาน กรธ.อยู่ด้วย ซึ่งเป็นผู้ผลักดันเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อเร่งรัดการปฏิรูปตำรวจให้เสร็จภายใน 1 ปี


และยังมีนายวิษณุตัวแทนรัฐบาล พร้อมตัวแทนคณะกรรมการปฏิรูป นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย นายอัชพร จารุจินดา ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม รวมถึงบุคคลอื่นๆ


ฉะนั้นด้วยความรู้ความสามารถของกรรมการชุดนี้ ผลงานที่ออกมาน่าจะตอบโจทย์ได้ในระดับสำคัญ


โดยเฉพาะการตอบโจทย์ข้อแรกคือ แก้ ปัญหาความทุกข์ของประชาชน ซึ่งเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ ที่ไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์


โจทย์อีกข้อคือ แก้ปัญหาทุกข์ของตำรวจที่มีความรู้ ความสามารถ ปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์สุจริต แต่ไม่สามารถเติบโตตามจังหวะก้าวของระบบราชการได้ อย่างที่ทราบกันดีการแต่งตั้งโยกย้ายจะมีข่าวความไม่ชอบมาพากล ใช้ระบบอุปถัมภ์ เล่นพรรคเล่นพวก ข้ามอาวุโส


การตอบโจทย์ 2 ข้อนี้ให้ได้มากที่สุด ต้องเริ่มจากกรอบโครงสร้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กรอบอำนาจการสอบสวน กรอบความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ ทั้งอุปกรณ์ต่างๆ รายได้ และกรอบด้านอื่นๆ


กรอบโครงสร้าง สตช. ซึ่งเกี่ยวพันกับการแต่งตั้งโยกย้าย อำนาจการสอบสวน เราเห็นควรให้ยุบคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) โอนภารกิจไปให้คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) มีนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลเป็นประธาน ก.ตร.โดยตำแหน่ง ซึ่งไม่สามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่นมาเป็นแทนได้


และแบ่งโครงสร้าง สตช.ออกเป็น 4 แท่ง 4 สายงาน ประกอบด้วย แท่งสอบสวนสืบสวน แท่งป้องกันปราบปรามอาชญากรรม แท่งเทคนิคและวิชาการ แท่งบริหารและอำนวยการ


พร้อมกำหนดให้นายตำรวจที่อยู่ในแต่ละแท่ง ต้องมีคุณสมบัติเฉพาะตามตำแหน่งของแต่ละแท่ง การโยกย้ายให้ทำภายในแท่งของสายงานตัวเอง ภายในสายงานของตัวเองจากระดับร้อยตำรวจขึ้นไปจนถึงพลตำรวจเอกถึงตำแหน่งรอง ผบ.ตร. อย่างน้อยจะมีรอง ผบ.ตร.จาก 4 สายงานเป็นอย่างน้อย


การย้ายข้ามแท่งทำได้ภายใต้เงื่อนไข หากย้ายไปต้องมีคุณสมบัติตรงกับสายงาน ย้ายข้ามสายงานได้ แต่ต้องไปในระนาบเดียวกัน ไม่ใช่ย้ายเพื่อไปกินตำแหน่งที่สูงกว่า การแต่งตั้งโยกย้ายหรือการเลื่อนขั้นอื่นๆจะกำหนดกฎเกณฑ์และรายละเอียดไว้ในกฎหมายหลัก คือ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ


ถ้าแต่งตั้งโยกย้ายไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ในกฎหมายหลัก เรากำหนดให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) เพื่อทำหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์ คำร้องทุกข์ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้ายไม่เป็นธรรม กรรมการ ก.พ.ค.ตร.มาจากการสรรหา ผู้ทำหน้าที่เป็นกรรมการสรรหามาจากองค์กรที่เป็นกลางและอิสระ


คำวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร.ยังไม่ใช่ถึงที่สุด ทำหน้าที่เชิงเปรียบเทียบคล้ายศาลปกครองชั้นต้น ถ้าผู้ร้องไม่พอใจสามารถร้องไปยังศาลปกครองสูงสุดได้


หากศาลปกครองตัดสินว่าเป็นไปโดยไม่ถูกต้อง ให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นการกระทำผิดกฎหมายอาญา ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วย เชื่อน่าจะป้องกันปัญหาหรือลดทอนปัญหาได้ในระดับสำคัญ


ส่วนเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้ายจะใช้ระบบถ่วงน้ำหนัก 3 เกณฑ์ สมมติ คะแนนเต็ม 100 ใช้หลักอาวุโส 50 คะแนน ผลงานเป็นที่ประจักษ์ 30 คะแนน ความพึงพอใจของประชาชน 20 คะแนน


พูดในภาพรวมอาจจะดูเหมือนง่าย แต่รายละเอียดในทางปฏิบัติ กรรมการ เช่น นายอุดม รัฐอมฤต นายศุภชัย ยาวะประภาษ กรธ. กำลังลองยกร่างเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการชุดใหญ่ต่อไป


สำหรับแท่งสืบสวนสอบสวนที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นประเด็นที่ถกเถียง เป็นปัญหามาทุกยุคสมัย สุดท้ายเห็นควรว่า อำนาจสอบสวนคงอยู่ใน สตช.


โดยแยกแท่งสอบสวนให้มีลักษณะพิเศษ เปรียบเหมือนเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีวิชาชีพเฉพาะในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มีอิสระในการทำคดี ไม่ขึ้นอยู่กับสายบังคับบัญชาตามปกติ


เปรียบเทียบได้เหมือนผู้พิพากษา หรืออัยการ เวลาทำสำนวนคดีหนึ่ง คนที่อยู่ในตำแหน่งบริหารจะสั่งไม่ได้ เพื่อเป็นหลักประกันความอิสระ การทำสำนวนคดีก็กำหนดหลักเกณฑ์ให้พนักงานสอบสวนแต่สถานีตำรวจมีอิสระสั่งคดี ไม่ขึ้นต่อหัวหน้าสถานีตำรวจ


และเพื่อให้มีหลักประกันความยุติธรรมแก่ประชาชน คงต้องมีระบบตรวจสอบถ่วงดุลภายในและภายนอก กลไกถ่วงดุลภายในก็ให้แท่งการสอบสวนด้วยกันเอง ไม่ใช่ภายในสถานีตำรวจ แต่เป็นระดับสูงขึ้นไป อาจจะมีความเห็นแย้งในแต่ละคดีก็ได้สุดแท้ที่จะออกแบบกันมา


ขณะที่กลไกภายนอก กำลังพิจารณาจะให้อัยการมีอำนาจตรวจสอบและถ่วงดุลเพิ่มมากขึ้น ถึงขนาดเข้ามาร่วมสอบสวนด้วยตั้งแต่ต้น หรือเฉพาะในบางคดีที่มีความสำคัญ หรือมีอำนาจสอบสวนเพิ่มเติมเองได้หรือไม่ เราจะออกแบบกันต่อไป


อีกเรื่องที่ถูกจับตามอง คือ การถ่ายโอนงานที่ไม่ใช่ของตำรวจออกไป เพื่อให้ สตช.มีความกระชับ กำลังพลที่มีอยู่สามารถระดมมาสู่งานหลักด้านการป้องกันและปราบปราม


เช่น งานด้านจราจร มีลักษณะบริการจัดระเบียบให้ความสะดวกแก่ประชาชน จะให้โอนไปสู่ ท้องถิ่นทั่วประเทศทั้งหมดภายใน 10 ปี แต่ยังคงงานบางระดับไว้ในมือตำรวจ เฉพาะภายใน 3 ปีแรกกำหนดให้ถ่ายโอนงานจราจร ด้านอำนวยความสะดวกด้านการจราจร งานกวดขันวินัยจราจร งานบังคับใช้กฎหมายจราจรเฉพาะความผิดฐานจอดรถโดยฝ่าฝืนกฎหมาย


เรายังให้ศึกษาเพิ่มเติมด้วยว่า หากจะโอนงานบังคับใช้กฎหมายที่มีโทษทางอาญา เฉพาะปรับสถานเดียวไปให้ท้องถิ่น จะกระทบงานป้องกันปราบปรามอาชญากรรมของตำรวจมากน้อยแค่ไหน ถ้าสามารถทำได้จะเป็นการโอนงานบังคับใช้กฎหมายที่มีโทษทางอาญาเล็กน้อยให้กับท้องถิ่นได้


ทั้งหมดนี้จะต้องดำเนินการควบคู่กันไปกับการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายอื่น แม้ไม่ใช่งานของคณะกรรมการชุดนี้ เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ที่บัญญัติให้มีโทษอาญาเฉพาะเท่าที่จำเป็นจริงๆ


จากการหารือในคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน ที่มีนายบวรศักดิ์เป็นประธาน และจากการศึกษาพบว่า ขณะนี้ เรามีกฎหมายที่มีโทษทางอาญาเกือบพันฉบับ แต่บังคับใช้จริงไม่ถึง 50 ฉบับ


ถ้าแก้ไขกฎหมายเก่าที่มีโทษอาญาครั้งใหญ่ เลิกบางฉบับที่ไม่มีความจำเป็น บางฉบับเปลี่ยนโทษปรับทางอาญาเป็นโทษปรับทางปกครอง จะทำให้ลดภาระของตำรวจไปโดยปริยาย


ทีมข่าวการเมือง ถามว่า จะให้ความมั่นใจกับประชาชนได้แค่ไหนว่าการปฏิรูปตำรวจจะสำเร็จ ตอบโจทย์ประชาชน นายคำนูญ บอกว่า ถ้าพูดในฐานะประชาชน เชื่อว่านายกฯเหลือเวลาไม่ถึง 1 ปีตามโรดแม็ป ย่อมสดับตรับฟังเสียงของสังคมที่ต้องการเห็นการปฏิรูปตำรวจ


ปัจจัยข้อนี้จะทำให้ผลงานการปฏิรูปตำรวจเกิดผลและจับต้องสัมผัสได้อย่างแน่นอน.

 

 

 

 

 

 

 

 

 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw